ช้องนาง ๒

Thunbergia erecta (Benth.) T. Anderson

ไม้พุ่ม กิ่งเรียว เกลี้ยง มีสันสี่เหลี่ยมตามยาว ใบเดี่ยว เรียงตรงข้าม รูปไข่หรือรูปไข่แกมรูปรี ดอกเดี่ยวออกตามซอกใบ สีม่วง โคนกลีบด้านในสีเหลือง บางครั้งพบดอกสีขาวทั้งดอก ผลแบบผลแห้งแตกโคนรูปทรงกลม ปลายเป็นจะงอยแหลมและแข็ง มี ๔ เมล็ด รูปทรงกลม แบนด้านข้าง

ช้องนางชนิดนี่เป็นไม้พุ่ม สูง ๑.๘-๒.๔ ม. แตกกิ่ง กิ่งเรียว เกลี้ยง มีสันสี่เหลี่ยมตามยาว

 ใบเดี่ยว เรียงตรงข้าม รูปไข่หรือรูปไข่แกม รูปรี กว้าง ๑-๒.๕ ซม. ยาว ๔-๕.๕ ซม. ปลายแหลมโคนสอบเรียวหรือค่อนข้างมน และมักเบี้ยวเล็กน้อย ขอบเรียบหรือเป็นคลื่น แผ่นใบบางคล้ายกระดาษด้านบนสีเขียว ด้านล่างสีเขียวอ่อน เกลี้ยงทั้ง ๒ ด้าน เส้นแขนงใบข้างละ ๕-๗ เส้น ปลายเส้นเชื่อมต่อกับเส้นถัดไปใกล้ขอบใบ เส้นใบย่อยเห็นไม่ค่อยชัด อาจมีต่อมรูปรีบริเวณโคนใบด้านล่าง ก้านใบยาวประมาณ ๓ มม.

 ดอกเดี่ยว ออกตามซอกใบ ก้านดอกยาว ๒-๓ ซม. ใบประดับ ๒ ใบ รูปไข่แกมรูปใบหอก กว้าง ๐.๕-๑ ซม. ยาวประมาณ ๒ ซม. ปลายแหลม ขอบโค้งและงุ้มเข้าคล้ายรูปเรือ กลีบเลี้ยงสีนวล เป็นเส้นเรียว ๑๐ เส้น ยาว ๑-๑.๕ ซม. ช่วงแรกกลีบดอกโคนเชื่อมติดกันเป็นหลอดแคบและค่อย ๆ ขยายกว้างออกคล้ายรูปกรวย ด้านนอกสีขาว ด้านในสีเหลือง ปลายแยกเป็น ๕ แฉก แต่ละแฉกรูปค่อนข้างกลม สีม่วง บางครั้งพบดอกสีขาวทั้งดอก แฉกกลีบดอกเรียงซ้อนเหลื่อมเกสรเพศผู้ ๔ เกสร แยกเป็น ๒ คู่ ยาวไม่เท่ากัน ติดใกล้โคนหลอดกลีบดอก โคนก้านชูอับเรณูค่อนข้างหนาอับเรณูรูปขอบขนาน แตกตามยาว จานฐานดอกนูนสีเหลือง รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ มี ๒ ช่อง แต่ละช่องมีออวุล ๒ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียเรียวยาว ยอดเกสรเพศเมียรูปปากเปิด

 ผลแบบผลแห้งแตก กว้าง ๑.๔-๑.๖ ซม. ยาว ๔-๕ ซม. โคนรูปทรงกลม ปลายเป็นจะงอยแหลมและแข็ง เมล็ดรูปทรงกลม แบนด้านข้าง เกลี้ยง มี ๔ เมล็ด

 ช้องนางชนิดนี่เป็นพรรณไม้ต่างประเทศ มีถิ่นกำเนิดในเขตร้อนของทวีปแอฟริกา และปลูกทั่วไปในเขตร้อนทั่วโลก นำเข้ามาปลูกเป็นไม้ประดับทั่วทุกภาคของประเทศไทย ออกดอกเดือนพฤศจิกายนถึงธันวาคม เป็นผลเดือนธันวาคม.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
ช้องนาง ๒
ชื่อวิทยาศาสตร์
Thunbergia erecta (Benth.) T. Anderson
ชื่อสกุล
Thunbergia
คำระบุชนิด
erecta
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Bentham, George
- Anderson, Thomas
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- Bentham, George (1800-1884)
- Anderson, Thomas (1832-1870)
ผู้เขียนคำอธิบาย
ดร.วินัย สมประสงค์